สารคดีเชิงความรู้
การเล่นหนังตะลุง
โดย ถาวร อนุศิริ
คำนำ
หนังตะลุงเป็นการละเล่นพื้นเมืองของชาวภาคใต้ เคยแพร่หลายไปในภาคอื่นและเคยได้ รับความนิยมมาแล้ว แต่ปัจจุบันนี้ไม่ค่อยนิยมเท่าไหร่นัก หรือไม่นิยมดูกันเลย เพราะดู กันไม่ค่อยจะรู้เรื่อง ยังคงเหลือแต่คนทางภาคใต้เท่านั้นที่ยังให้ความนิยมดูหนังตะลุงอยู่ เพราะเป็นศิลปะประจำภาคของเขาเอง หนังตะลุงมีอิทธิพลต่อชีวิตของชาวชนบททางใต้ มาก ถ้ามีงานที่สำคัญก็มักจะต้องมีหนังตะลุง หรือถ้าไม่มีเงินหาหนังตะลุงมาแสดงจริงๆ ก็เปิดเครื่องบันทึกเสียงที่อัดหนังตะลุงฟังกัน
การเชิดหนังตะลุงก็เป็นศิลปอย่างมากถ้าหากดูหรือฟังกันเผินๆ ก็ อาจจะรู้สึกว่า เป็น การละเล่นที่ให้ความรื่นเริงธรรมดาๆ แต่ถ้าดูกันอย่างพินิจพิเคราะห์ (โดยเฉพาะ คนที่ดูเข้าใจรู้เรื่อง) ก็จะเห็นได้ว่าน่าทึ่งมาก เพราะคนเล่นคนเดียวแต่พากย์ทุกตัวรูป และแต่ละรูปก็มีบทบาทไม่เหมือนกันเลย แต่ก็มีนิสัยเฉพาะตัวซึ่งผู้พากษ์เองจะต้องมี ความสามารถพิเศษที่จะทำให้รูปแต่ละตัวสมบทบาท มิฉะนั้นแล้ว จะให้เป็นเรื่อง เป็นราวไม่ได้เลย จึงไม่ใช่เป็นของง่ายนักสำหรับผู้ที่ขาดอัจฉริยะลักษณะในเรื่องนี้ โดยเฉพาะ
การดูหนังตะลุงนั้น นอกจากจะได้รับความบันเทิงแล้ว ยังจะได้แง่คิดต่างๆ ที่มักจะ สอดแทรกอยู่เสมอในการพากย์ ศีลธรรม คติธรรม ต่างๆ นอกจากนี้ยังมีบทเสียดสีสังคม ซึ่งการสอดแทรกสิ่งต่างๆ เหล่านี้กระทำได้อย่างแนบเนียน ซึ่งอาจจะออกมาในรูปของ บทตะลกบ้างบท ต่อว่าต่อขานบ้าง หรือสอนกันโดยทางตรง
ศิลปะในการเล่นหนังตะลุงกำลังเปลี่ยนไปจากเดิมมาก เพราะอิทธิพลความเปลี่ยนแปลง ของสังคม ซึ่งหนังตะลุงยุคใหม่จะต่างกับยุคเก่ามาก
สารคดีเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาเรียงความชั้นสูง (อี.ที.311) ของอาจารย์วันเนาว์ ยูเด็น ซึ่งข้าพเจ้าได้เรื่องราวต่างๆ มาด้วยประสบการณ์ตรงของข้าพเจ้าเองด้วยเคยเป็นลูกคู่ หนังตะลุงมาสมัยเด็กๆ และค้นหามาจากตำราบ้างเกี่ยวกับประวัติของหนังตะลุง เรื่อง ราวต่างๆ คงจะไม่ละเอียดนัก แต่หวังว่าผู้อ่านได้อ่านแล้วก็คงจะรู้จักหนังตะลุงบ้างว่า เป็นอย่างไร
ขอขอบคุณ
ผู้เขียน
ประวัติหนังตะลุง
ตามประวัติบางท่านกล่าวว่าสมัยก่อนนั้นมหรสพที่ขึ้นหน้าขึ้นตาของไทยคือหนังซึ่ง
ภายหลังเรียกว่า "หนังใหญ่" เพราะมีหนังเล็กเกิดขึ้นคือ หนังตะลุง
ซึ่งก็ยังไม่แน่นอนว่าหนังใหญ่หรือ หนังตะลุงอันไหนจะเกิดก่อนกันแน่
บางท่านกล่าวว่าหนังตะลุงเกิดในสมัยรัชกาลที่5 โดยเกิดขึ้นที่บ้านดอนมะพร้าว อ.เมือง พัทลุง ชาวใต้จึงเรียกกันว่าหนังดอนตามตำบลที่เกิด ที่ได้เรียกว่าหนังตะลุง สันนิษฐาน ว่าอาจจะเป็นเพราะเมื่อหนังตะลุงได้เข้ามาแสดงในกรุงเทพฯ ชาวกรุงเทพฯ เห็นว่ามา จากพัทลุง เลยเรียกหนังพัทลุง ต่อมาก็แผลงมาเรื่อยๆ สั้นเข้าๆ เป็นหนังทลุง และในที่ สุดก็เป็นหนังตะลุง ซึ่งคนกรุงเทพฯก็ยังเรียกกันอย่างนี้จนปัจจุบันแต่คนทางใต้เขาจะ เรียกสั้นๆ ว่าหนังลุง หรือ หนังเฉยตามแบบคนโบราณเพราะสมัยก่อนนั้นยังไม่มี ภาพยนต์ พอมีภาพยนต์เข้ามาชาวใต้เรียกภาพยนต์ว่าหนังญี่ปุ่น อย่างถ้าจะพูดว่าไปดู หนังตะลุงกัน เขาจะพูดว่า "ไปแลหนังกัน" แค่นี้เขาก็เข้าใจกัน
หนังดอนนั้น เขาบอกว่าเอาแบบอย่างของชวามาดัดแปลงเล่นเป็นหนังตะลุงของไทยและ ก็ได้แพร่หลายไปยังที่อื่น ซึ่งก็ยังไม่เป็นที่แน่นอนอีกเหมือนกันว่า การเล่นหนังตะลุงนั้น ไทยจะเอามาจากชวาหรือชวาเอาไปจากไทย เพราะลักษณะของหนังตะลุงชวาก็คล้ายๆ กับของไทยทุกอย่าง จะเป็นรูปหนัง ซึ่งของชวานั้นกระเดียดไปทางการ์ตูนไปหน่อยไม่ ค่อยมีลวดลายกนกเหมือนของไทย เครื่องดนตรีของหนังตะลุงชวานั้นก็กระเดียดไปทาง อินเดีย โรงหนังตะลุงของชวาก็ยกพื้นสูงขนาดเดียวกับของไทย จอหนังใช้ผ้าขาวบางๆ กว้างยาวก็พอๆ กับของไทย
นอกจากนี้ ขนบนิยมการแสดงหนังของชวาก็คล้ายๆ กับหนังตะลุงไทยบางท่าน สันนิษฐานว่า หนังตะลุงนั้นเกิดขึ้นที่จังหวัดพัทลุงเป็นประถมและว่าน่าจะเกิดที่เขายา โฮ้งหรือพญาโฮ้ง ต.ชะรัด อ.เมือง พัทลุง เขานี้เองที่มีผู้ออกเสียงผิดเพี้ยนเป็นยะโฮว์ แล้ว ทำให้เข้าใจผิดเป็นยะโฮร์ของมาเลเซียไป จึงทำให้มีคนเชื่อว่าหนังตะลุงมาจากมาเลเซีย หรือชวา
นอกจากนี้ ก็ยังมีข้อสันนิษฐานมากมายถึงที่มาของหนังตะลุง แต่จนแล้วจนรอดก็ยัง หาข้อสรุปที่แน่นอนยังมิได้
องค์ประกอบในการเล่นหนังตะลุง
ในการเล่นหนังตะลุงมีส่วนประกอบหลายอย่างด้วยกัน เช่น
คณะหนังตะลุง
หนังตะลุง 1 คณะ เรียกว่า 1 โรง ประกอบไปด้วย นายหนังตะลุงและลูกคู่หนัง จะกี่คนก็ แล้วแต่คณะ แต่ที่สำคัญที่ขาดไม่ได้ก็มี คนส่งรูป 1 หรือ 2 คน ลูกคู่ตีทับ 1 คน กลอง 1 คน ปี่ 1 คน โหม่ง 1 คน ฉิ่งและกรับอีกอย่างละ 1 คน บางคณะก็ยังมีหมอไสยศาสตร์อีก 1 คน
ลูกคู่นั้นนอกจากจะมีหน้าที่เล่นดนตรีแล้ว ยังมีหน้าที่ขนย้ายเครื่องดนตรีในการเดินทาง ไปแสดงอีกด้วย ซึ่งแต่ละคนก็มีหน้าที่ไปคนละอย่างกัน
รูปหนังตะลุง
หนังตะลุงแต่ละคนมีรูปไม่เท่ากัน โดยทั่วไปมีประมาณ 100-300 รูป ตามความจำเป็นที่ ต้องใช้ ประกอบด้วยรูป ฤาษี พระอิศวร อภิปรายหน้าบท เจ้าเมือง ยักษ์ มนุษย์ ตัวตลก โจร ต้นไม้ ยานพาหนะอาวุธ ฯลฯ และยังมีสัตว์ต่างๆ ในวรรณคดี เช่น สิงห์ เสือ ครุฑ หงส์ เป็นต้น
รูปหนังตะลุงมีขนาดสูงประมาณ 1-2 ฟุต มักทำด้วยหนังวัว หรือหนังควาย มีการแกะลวด ลายและลงสีสวยงามมาก
ดนตรีหนังตะลุง
เครื่องดนตรีหนังตะลุงที่สำคัญซึ่งจะขาดไม่ได้ คือ
1. กลอง 1 ลูก หุ้มหนัง 2 ข้าง กว้างประมาณ 8-10 นิ้ว ยาว 10-12 นิ้ว หัวท้ายจะเล็กกว่า ตรงกลาง
2. ทับ 2 ลูก หุ้มด้วยหนังบางๆ เช่น หนังค่าง ทั้ง 2 ลูกมี ขนาดต่างกันเล็กน้อยเพื่อให้เสียง ต่างกัน
3. โหม่ง 1 คู่ เสียงลูกหนึ่งสูง อีกลูกหนึ่งต่ำ ทั้งคู่แขวนตรึงกับรางไม้สี่เหลี่ยม ตัวโหม่งทำ ด้วยทองหลืองหรือทองแดง
4. ฉิ่ง 1 คู่
5. ปี่ 1 เลา บางคณะก็มีซออู้ ซอด้วง หรือขลุ่ยประกอบ
ปัจจุบันนี้หนังตะลุงคณะหนึ่งประกอบด้วยลูกคู่มากมาย และดนตรีมากกว่าแต่ก่อน เพราะแต่ละคณะพยายามวิวัฒนาการให้ทันสมัย และให้เป็นที่โด่งดัง เด่นในบรรดา หนังตะลุงทั้งหลาย เลยนำเอาเครื่องดนตรีของสากลมาประกอบ เช่น กลอง ก็ใช้กลองชุด เมโดลิกา หรือกีตาร์ ฯ
ซึ่งอันที่จริงการนำเครื่องดนตรีสากลมาใช้ในการเล่นหนังตะลุงนั้น ทำให้เอกลักษณ์เดิม ของหนังตะลุงกำลังจะถูกกลืนไปอย่างน่าเสียดาย
นอกจากนี้ก็ยังมีส่วนประกอบอื่นๆ อีก เช่น
โรงหนังตะลุง
ลักษณะของโรงหนังตะลุง จะเห็นได้ว่ามีฉากประกอบจอหนัง อันนี้เป็นลักษณะของ หนังตะลุงในปัจจุบันเขาใช้กัน 2 ข้างจอจะเห็นตู้ลำโพงดำๆ ซึ่งใช้ประกอบทำเสียงก้อง จะเห็นได้ว่าหนังตะลุงปัจจุบันนี้เป็นตะลุงสากล
โรงหนังตะลุงนั้นปลูกยกพื้นสูงระดับศีรษะผู้ใหญ่ กว้างไม่น้อยกว่า 10 ศอก ยาวก็พอๆ กัน หลังคาเพิงหมาแหงน ซึ่งการปลูกโรงหนังนั้นเป็นหน้าที่ของเจ้าภาพ ที่จะต้องปลูก ให้มั่นคง และมีลักษณะเป็นมงคล เช่น ห้ามปลูกหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ห้ามปลูก คร่อมตอ คร่อมต้นไม้หรือคันนา หรือคร่อมแอ่งน้ำ ห้ามปลูกในเขตป่าช้า ห้ามปลูก ระหว่างต้นไม้ใหญ่ 2 ต้น
จอหนังตะลุง
ทำด้วยผ้าขาวบาง ยาว 8-9 ฟุต สูงพอท่วมศีรษะ ทั้ง 4 ด้าน พอขริบด้วยผ้าแดงกว้าง ประมาณ 4 นิ้ว มีหนวดรามสำหรับผู้ชาย
โคมไฟ
สมัยก่อนไม่มีไฟฟ้า เขาใช้ตะเกียงน้ำมันไขสัตว์ เช่น ไขวัว ไขควาย หรือใช้น้ำมัน มะพร้าว ต่อมาใช้ตะเกียงกล้องหรือตะเกียงเจ้าพายุ ปัจจุบันนี้ใช้ไฟฟ้าเพราะจะได้ใช้ เครื่องขยายเสียงด้วย หนังตะลุงปัจจุบันไม่มีไฟฟ้าหรือเครื่องปั่นไฟ ไม่มีใครเล่นกัน หรอก บางคณะจึงต้องมีเครื่องปั่นไฟเอง
ขนบนิยมในการเล่นหนังตะลุง
เมื่อหนังตะลุงขึ้นโรงแสดงเรียบร้อยแล้ว มักจะมีขนบนิยมในการแสดงเป็นลำดับดังนี้
1. ทำพิธีเบิกโรง
2. เล่นเพลงโหมโรง
3. ออกลิงดำลิงขาวหรือลิงหัวค่ำ (ปัจจุบันไม่นิยม)
4. ออกรูปฤาษี
5. ออกรูปพระอิศวร
6. ออกรูปอภิปรายหน้าบท
7. ออกรูปบอกเรื่อง
8. ออกรูปเจ้าเมือง
9. ดำเนินเรื่องต่อไปตามเนื้อเรื่องจนสว่าง
1. ทำพิธีเบิกโรง
เมื่อคณะหนังตะลุงไปถึงโรงแสดง จะนำอุปกรณ์ทุกชิ้นขึ้นทางหน้าโรงโดยส่งขึ้นไป ส่วนผู้แสดงนั้นขึ้นทางหลังโรง เมื่อทุกคนขึ้นบนโรงเรียบร้อยแล้ว นายหนังตะลุงจะเป็น ผู้ประเมินการโหมโรง โดยการตีกลอง เอาฤกษ์เอาชัยและกันจัญไร ต่อไปลูกคู่ก็บรรเลง เพลงเชิดเรียกว่าตั้งเครื่อง แล้วทำพิธีเบิกรูปออกจากแผงเก็บรูปจัดปักไว้เป็นระเบียบ รูป ใดที่ศักดิสิทธิ์ เช่น ฤาษี เทวดา หรือพระอิศวร ก็จะแขวนไว้ที่สูง แล้วก็ทำพิธีเบิกโรง ซึ่ง ในการเบิกโรงนั้น เจ้าของงานต้องเตรียมอุปกรณ์ไว้ มีความแตกต่างไปบ้างแล้วแต่คณะ และโอกาสหรือลักษณะงานที่แสดง อุปกรณ์ดังกล่าว เช่น หมาก พลูเงิน เทียนไข เสื่อ หมอน น้ำมนต์ ซึ่งจำนวนของแต่ละอย่างนั้น จัดตามลักษณะของงานบางคณะก็เพิ่ม ดอกไม้ ข้าวสาร ด้ายดิบ ซึ่งปัจจุบันนี้ พิธีเบิกโรง มักไม่ค่อยนิยมทำกันเท่าไหร่ บางคนก็ ไม่ใช้เลย เพราะบางโอกาสบางงานก็ต้องแสดงติดต่อกันหลายๆ คืน อาจจะทำพิธีเบิก โรงคืนแรกแล้ว คืนต่อไปก็ไม่ต้องทำ
2. เล่นเพลงโหมโรง
เมื่อทำพิธีเบิกโรงเสร็จแล้วลูกคู่ก็จะเล่นเพลงโหมโรง ซึ่งมี 2 ลักษณะ คือ เพลงทับและ เพลงปี่ เพลงทับก็คือ ถือเอาจังหวะทำนองของเสียงทับเป็นหลัก ลีลาการตีทับจะแตกต่าง กันออกไป ส่วนเพลงปี่ก็ถือเอาเสียงปี่เป็นหลัก ส่วนมากเพลงปี่จะเป็นทำนองเพลงไทย เดิม เช่น เพลงพัดชา เพลงลาวกระแซ เพลงเขมรไทรโยค ฯลฯ
อันที่จริงหนังตะลุงสมัย ก่อนไม่มีปี่ แต่ภายหลังได้วิวัฒนาการขึ้น จึงนำปี่มาประกอบใน การเล่น มีเพลงปี่ประกอบเพื่อให้ไพเราะขึ้น ปัจจุบันนี้หนังทุกๆ คณะก็มีทั้งปี่ทั้งซอ
3. การออกลิงหัวค่ำ
การออกลิงหัวค่ำเป็นที่นิยมของหนังตะลุงโบราณ ซึ่งก่อนจะออก ฤาษีต้องออกลิงหัวค่ำ ก่อน เดี๋ยวนี้ไม่นิยมกัน จะมีก็เฉพาะเล่นแก้บนเท่านั้น ซึ่งสมัยก่อนที่นิยมออกลิงหัวค่ำ นั้น ท่านอธิบายว่าได้แบบมาจากหนังใหญ่
4. ออกรูปฤาษี
การออกรูปฤาษีเป็นแบบฉบับของหนังตะลุงทุกคณะจะขาดเสียมิได้ ซึ่งลักษณะการออก รูปฤาษีนั้น พอจะสรุปได้ดังนี้
รูปฤาษีออกครั้งแรกจะมีสีดำล้วนทั้งตัว ฤาษีรูปนี้ไม่ใช้แสดงประกอบในเรื่อง เป็นฤาษีที่ ศักดิ์สิทธิ์
ดนตรีบรรเลงไปเรื่อยๆ
1. ออกล่อไม้เท้าวับๆ แวมๆ 3 ครั้ง แล้วกลับเข้าฉาก
2. เหาะผ่านจอด้านขวาไปซ้าย 1 ครั้ง ถอยเข้าฉาก
3. เดินย่างสามขุมอยู่ตรงกลางจอประมาณ 2-3 นาที เดินไปหน้าและถอยหลังสลับกัน เดินอย่างธรรมดา แล้วเดินช้าและเดินเร็ว
4. เหาะจากด้านขวาไปด้านซ้ายจากซ้ายไปขวาสลับกัน 3 ครั้ง แล้วปักรูปกลางจอ ดนตรี จะบรรเลงไปอีกประมาณ 1 นาที แล้วหยุด
5. ตั้ง นโม 3 จบ
6. ตั้ง สคเค กาเม จรูเป ศิริสิขรตาเฏ จนท ลิกเข วิมาเนทิเป เขดต รมมา จายนตุ เทวา ชลกลวิสเม ยกขคนธพพนรคาติฏฐนตาสนติเก ย มุนิวรวจน สาธโว เม สุณเนตุ
ธมมสสวนกาโล อยมกทนตา, ธมมสสวนกาโล อยมตทนตา ธมมสสวนกาโล อยุมราทนตา
บางคณะก็จบแค่นี้ บางคณะก็ยังว่าต่อไปอีกยาวยืด ซึ่งผู้เขียนเองก็จำไม่ได้
5. ออกรูปพระอิศวร
ต่อจากออกรูปฤาษีก็เป็นการเชิดรูปพระอิศวร ซึ่งทรงโคอุสุภราช มีความสัมพันธ์กับการ เล่นหนังตะลุง การเชิดรูปพระอิศวรถือเป็นศิลปชั้นสูงของการเชิดหนังตะลุง นาย หนังตะลุงจะอวดฝีมือในการเชิดรูปพระอิศวรกันอย่างสุดฝีมือ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีลีลาการ เชิดไม่เหมือนกัน
ในการเชิดรูปพระอิศวร ก็จะมีดนตรีประกอบให้จังหวะไปเรื่อยๆ โดยทั่วไปจะใช้เพลง ใดก็แล้วแต่ความสามารถของนายปี่ บังคับตามจังหวะเพลง เมื่อเชิดเสร็จพระอิศวรก็จะ เหาะลงมาจากสวรรค์ แล้วปักรูปลงกลางจอ ดนตรีก็จะหยุด แล้วก็ตั้งนโมว่าคาถา ไหว้ เทวดา ในสวรรค์ต่างๆ คล้ายๆ กับฤาษี
ตัวอย่างคาถาพระอิศวร เช่น
"โอมนาคา
ข้าจะไหว้พระบาทเจ้าทั้งสามองค์
พระอิศวรผู้ทรง พระยาโคอุสุภราชฤทธิรอน"
หยุดคาถาจบที่ 1 เชิดต่อแล้วหยุดว่าคาถาที่ 2
"เบื้องขวาข้าจะไหว้พระนารายณ์พระสี่กร
ทรงครุฑระเหินจร
พระชินรินทร์เรืองณรงค์"
เชิดต่อแล้วว่าคาถาตอนที่ 3, 4 เรื่อยไปสลับกับการเชิดจนจบ
การเชิดรูปพระอิศวรในปัจจุบันส่วนใหญ่ก็ยังนิยมใช้กันอยู่ แต่บางคณะก็ไม่เชิดเลย ออกรูปฤาษีอย่างเดียวแล้วออกอภิปรายหน้าบทเลยก็มี
6. ออกรูปอภิปรายหน้าบท
การออกรูปอภิปรายหน้าบทหรือภาษาใต้เรียกสั้นๆ ว่า ออกปรายหน้าบท รูปปรายหน้า บทนี้จะเป็นรูปผู้ชายถือดอกบัว เป็นเสมือนตัวแทน นายหนังตะลุงออกมาเพื่อคาราวะผู้ ชมและทำการสักการะคุณ
นายหนังจะหยิบรูปขึ้นมาเสกคาถาแบบเบิกปากก่อน เพื่อให้ได้กำลังใจมีปฏิภาณดี ไหว พริบดี ปักรูปไว้ตรงหน้าก่อนยังไม่ออกก่อน นายหนังจะเริ่มกล่าวบทในจอก่อน 3-5 คำกลอน เป็นทำนองไหว้พระ พอจบทำนองไหว้พระลูกคู่จะเริ่มบรรเลงเพลงอีกครั้ง แล้วนายหนังจึงเริ่มออกรูปปรายหน้าบท นายหนังจะเดินรูปออกมากลางจอ แล้วยกมือ ทำความเคารพ 3 ครั้ง แล้วเดินเข้าฉากทางซ้ายมือ แล้วออกมาทางขวาใหม่ ยกมือไหว้อีก 3 ครั้ง แล้วหลบเข้าฉากทางซ้ายอีก หลังจากนั้นก็ออกมาทางขวาใหม่ คราวนี้ปักรูปไว้ กลางจอ โดยวางมือของรูปเหนือศีรษะ ปักรูปให้ก้ม หน้าลงเล็กน้อยคล้ายๆ นั่งก้มไหว้ แล้วดนตรีจะหยุด
นายหนังจะเริ่มพากย์บทด้วยเสียงต่ำๆ ใช้โหม่งลูกเสียงต่ำกับฉิ่งและทับให้จังหวะ กล่าว บทไหว้ไปเรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่ไหว้พระรัตนตรัย ไหว้สิ่งต่างๆ ไหว้นายหนังที่เคารพ ไหว้ พระมหากษัตริย์ ไหว้บิดามารดา ครูอาจารย์ พระอุปปัชฌาย์ พระคู่สวด ไหว้นักปราชญ์ ทางกลอน เช่น สุนทรภู่ ศรีปราชญ์ (ซึ่งจะขาดเสียมิได้) ไหว้ครูหนังแต่โบราณ ไหว้ เจ้าภาพและผู้อำนวยความสะดวกทั้งหลาย
ขณะที่ไหว้จบแต่ละอย่างนั้น จะขึ้นบทใหม่ จะมีจังหวะหยุดให้ดนตรีบรรเลงสลับ เพื่อ พักผ่อนไปในตัว เรื่อยๆ ไปจนจบ แล้วดนตรีทำเพลงเดิน ใช้รูปทำความเคารพ 3 ครั้ง แล้วเข้าฉากไป
7. ออกรูปบอกเรื่อง
หลังจากออกรูปอภิปรายหน้าบทแล้ว นายหนังจะออกรูปบอกเรื่อง ส่วนมากก็หนังตะลุง คณะใดที่มีชื่อเสียงหรือเล่นดี ก็จะเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชม จะเห็นได้ว่าในภาพนี้ ผู้ชมมานั่ง ชมกันมากมาย ถึงแม้จะตากน้ำค้าง ทนหนาวกับอากาศเย็นในตอนดึก แต่เขาก็ทนดูได้ จนสว่าง ถ้าหากหนังโรงนั้นเล่นเป็นที่ถูกใจเขาใช้รูปตัวตลกถือรูปไอ้ขวัญเมือง เพื่อ บอก ผู้ชมว่า คืนนั้นจะแสดงเรื่องอะไรถ้าเป็นการแสดงต่อในคืนที่ 2 หรือ 3 ก็จะเล่าเรื่องย่อๆ เป็นการเท้าความเรื่องที่ได้แสดงมาแล้ว แล้วก็จะแสดงต่อ การบอกเรื่องนี้ใช้ภาษาท้อง ถิ่นโดยตลอด
8. การออกรูปเจ้าเมือง
ตามธรรมเนียมการเล่นหนังตะลุงนั้น จะเปิดฉากหรือเริ่มเรื่องโดยการออกรูปเจ้าเมือง เมืองที่สำคัญที่สุดของเรื่องก่อน แล้วดำเนินเรื่องต่อไปหรือย้อนหลังตามแต่เนื้อเรื่อง แต่ จะไม่ออกรูปอื่นก่อนออกรูปเจ้าเมือง การออกรูปเจ้าเมืองในคืนแรกของการแสดงจะต้อง มีทั้งราชาและราชินีเสมอ
การออกรูปเจ้าเมือง ในตอนแรกนั้นจะต้องมีทั้งราชาและราชินีเสมอ นอกนั้นอาจจะมีตัว ประกอบอื่นๆ เช่น ขุนพล หรือแม่ทัพ นายกอง หรือเสนา ฯลฯ
9. ดำเนินเรื่อง
หลังจากออกรูปเจ้าเมืองแล้ว
จึงดำเนินเรื่องต่อไปตามโครงเรื่อง จะจับตอนใดรูปใด
แล้วแต่ศิลปะการเล่าเรื่องของนายหนังตะลุงแต่ละคนจะผูกปมแก้ปมให้แก่ผู้ชมสนใจติด
ตามเรื่องต่อไปจนตลอดการแสดง
เนื้อเรื่องที่แสดงนั้น หนังตะลุงโบราณนิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์ หรือไม่ก็เป็นเรื่องจักรๆ วงศ์ทำนองกระเดียดไปทางนิยมภารตะ แล้วขยายออกไปเป็นนิทานประโลมโลกอื่นๆ ซึ่งผูกขึ้นเองบ้าง ดัดแปลงมาจากนวนิยายพื้นบ้านบ้าง จากนิทานบ้าง หรือจากชาดกบ้าง ปัจจุบันเนื้อเรื่องของหนังตะลุงนั้นเป็นสากลนิยม เรื่องรามเกียรติ์ ไม่นิยมเล่นกันเท่าไหร่ นัก เนื้อเรื่องส่วนใหญ่จะเป็นทำนองพื้นบ้านเกี่ยวกับชีวิตจริงหรือเหตุการณ์ในขณะนั้น ซึ่งหนังตะลุงสมัยนี้ยังจะแทรกบททางการเมืองเข้าไปในเรื่อง บางคณะก็เล่นแทรกการ เมืองทั้งคืน บางคณะก็ได้ชื่อว่าหนังตะลุงเพื่อชีวิต เอาเรื่องจริงๆ มาพูด มาแฉ ซึ่งก็มีทั้ง ผลดีและผลเสีย นายหนังเองโดนยิงไปก็มี
นับว่าในยุคประชาธิปไตยนี้ อะไรๆ มันก็ต้องเพื่อชีวิต เพื่อมวลชน แม้แต่หนังตะลุงก็ยัง มีหนังตะลุงเพื่อชีวิต ในสมัยเพื่อชีวิตนี้ บรรดาพวกเพื่อชีวิต พวกเพื่อมวลชนทั้งหลาย ก็ ต้องถูกฆ่ากันอย่างมากมาย
บทพากย์และเจรจา
บทพากย์
บทพากย์ในการเล่นหนังตะลุงนั้น เป็นบทกลอนซึ่งโดยปกติก็ใช้กลอนสดๆ เว้นแต่ว่า นายหนังตะลุงที่ยังไม่ชำนาญ จึงจะใช้บทกลอนที่แต่งไว้ก่อน เรียกว่า "กลอนผูก" และ ท่องจำไว้ หรือไม่ก็เอามากางดูเวลาเล่นเลย บางคนก็ใช้บทกลอนที่คนอื่น เช่น อาจารย์ หนังผูกให้ แต่ก็มีไม่มากนัก
บทพากษ์นอกจากจะใช้พากย์หรือบรรยายรูป ฤาษี พระอิศวรและ ตัวอภิปรายหน้าบท แล้ว ก็ยังใช้สำหรับบรรยาย เช่น บรรยายเรื่อง บรรยายการแต่งกาย บรรยายเเครื่องแต่ง กาย หรือบรรยายถึงความรู้สึกนึกคิดของตัวละครที่ใช้บทพากษ์แทนบทเจรจาก็มีบ้าง แต่เป็นบทสั้นๆ เพื่อให้ดนตรีรับสลับคำเจรจา
ลักษณะคำประพันธ์
บทกลอนที่ใช้เป็นบทพากษ์แต่งเป็นคำประพันธ์หลายชนิด แต่โดย มากจะใช้กลอนแปด หรือกลอนตลาด กลอนหก กลอนสี่ และที่เป็นคำประพันธ์ประเภทกาพย์ หรือร่ายก็มีบ้าง แต่น้อยมาก และโดยเฉพาะปัจจุบันนี้ไม่มีคำประพันธ์ประเภทกาพย์ หรือร่ายปนอยู่ใน บทพากย์เลย ตัวอย่างบทพากย์ที่เป็นกลอนแปด
ตอนบรรยายเรื่อง
พออาทิตย์ผุดผ่องขึ้นส่องแสง บวรจัดแจงจะเที่ยวดูเม่นหมูหมี จากคูหันผันหน้าเข้าพนาลี หาเสือสีห์เสพสุมไปทุกพุ่มเพิง เห็นกลางปิ๊ปรีบรุกบุกหนามเหนียว หนามก็เกี่ยวหนังแยกเนื้อแหกเหิง เห็นกวางวิ่งจึงเงิกเงิ้ง มารจดเจิ้งจ้องจับได้ยิ่งขัดใจ โดดคลุบผิดจับฉุดโดดดุดไม้ หัวแตกตายก่ายกองมันกล่องใหญ่ ชักมีดออกเถือถากชากใส้ใน วางเข้าไปในคอหอยมันอร่อยจังคาง ทั้งต้มตอกหินมารกินหมด ไม่รันทดสมมุ่งยืนพุงหลาง พุงกุมภัณฑ์ดันดึงขึ้นตึงถาง เดินมากลางป่าล้มหาท่อมกิน
ตอนชมโฉม
ทิศพักตรีลัขณาพระหน่อนาถ สุดสวาทโสภาสง่าโฉม จะดูไหนวิไลตาช่างน่าโลม ประดุจโฉมเทพบุตรสุดวิไล เนตรขนงวงพักตรีน่ารักใคร่ ยามชะม้ายเนตรจ้องต้องหลงไหล แววเสน่ห์เล่ห์สวาทช่างบาดใจ เกินพิไรพูดพร่ำด้วยคำคม
ตัวอย่างบทพากย์กลอนสี่
กลอนสี่นั้นมักจะใช้เป็นบทชมโฉมของหญิงสาวหรือชมธรรมชาติตอน ขับก็มักใช้ทำนอง พิเศษ เรียกกันตามภาษาหนังตะลุงว่า "คำคอน" คือ เป็นทำนองบทกลอนหนังที่ชาว นครศรีธรรมราชชอบใช้กัน เช่น
ตอนชมโฉม
สิบสามพอดี สิบสี่ทรามนอง ใครใครเห็นน้อง ใคร่เห็นนางยามนอน รุ่นวัยสิบสี่ ปลายปีสิบห้า เต็มสาวขึ้นมา น่าเรียงเคียงหมอน แขวนสร้อยไข่มุข นิวลุคตองอ่อน งามหล่อนยามยิ้ม งามพริ้มยวนใจ งามคมสมส่วน ถันนวลตึงครัด เสื้อบางนางตัด สีนี้น้องใส่ ยังไม่มีเจ้า มองเย้ายวนใจ ก่อนผลัดตัดใหม่ เหมือนไฟใกล้ฟาง แหวนเพชรสวมนิ้ว สมนิ้วน้องนาง ทรวงสาวขาวผ่อง บ่าวมองใจหวาง บ่าวมองจ้องแน่ แลแลราง ผุดไฝตรงกลาง ผุดขึ้นหว่างนม จะดูไหน วิไลนักนี่ เพียงไม่กี่ปี งามเท้าหลอดผม พิศไหน วิไลน่าชม งามนมเหอนม พอเต็มกำมือ
กลอนนารถ
กลอนหกคือกลอนที่มีวรรคละ 6 คำ โดยปกติกลอนหกมักใช้พากย์ เพื่อสร้างอารมณ์ให้ ตื่นเต้น น่ากลัวใช้ทำนองเร็ว แข็งกร้าว ยิ่งถ้าส่งกลอนด้วยคำตายแล้ว จะช่วยให้ฟังดู แข็งกร้าวยิ่งขึ้น ส่วนใหญ่ใช้พากษ์บทยักษ์ เทวดา หรือครุฑ เช่น
ตอนพากย์บทยักษ์เดินป่า
ตัดทางกลางพงดงอัฏ ฝูงสัตว์หมีเม่นแล่นหนี ด้วยฤทธิ์อำนาจอสุรี พงพีหวั่นไหวไปทุกทิศ เสือสางกลางป่าหนีหลบ ไม่อยากพบมารไพรใจอมหิต พฤษาสูงยูงใหญ่ใบปลิด ที่ต้นนิดโค่นหักไม่พักราน
นอกจากกลอนดังที่กล่าวมาแล้ว ก็ยังมีกลอนอื่นๆ อีก เช่น กลอนสามและกาพย์ฉบัง กาพย์ยานี ซึ่งไม่นิยมใช้กัน และเดี๋ยวนี้ก็ไม่เห็นว่าหนังตะลุงคณะไหนเขาใช้กัน มีก็แต่กลอนแปด กลอนสี่ หรือกลอนหกเท่านั้น ซึ่งหนังบางคนยังมีความสามารถแต่ง กลอนกลบทต่างๆ ได้อีกด้วย กลอนกลบทเหล่านี้ เรียกกันตามภาษาหนังตะลุงว่า "ยศกิต"
บทเจรจา
บทเจรจานั้นจะใช้เมื่อตัวละครพูดกันหลังจากว่ากลอนเสร็จ ตนตรี ก็จะหยุดขณะที่ เจรจาอาจจะใช้ฉิ่ง กรับ หรือทับให้จังหวะประกอบคำพูดเพื่อช่วยสร้างบรรยากาศ อย่างเช่น ตอนโกรธ ตอนรบราฆ่าฟันกัน ตอนชกต่อยกัน
ภาษาที่ใช้ในการเจรจานั้น มี 2 ภาษา คือ
ภาษากลาง - ใช้พากย์ตัวพระตัวนาง ท้าวพระยามหกษัตริย์ ยักษ์ หรือตัวละครที่สำคัญๆ
ภาษาถิ่นภาคใต้ - ใช้กับตัวตลกทุกตัว ซึ่งแต่ละตัวนั้นก็มีลีลาการ พูดเฉพาะตัวไป ซึ่งผู้พากษ์จะต้องฝึกฝนเป็นพิเศษ เพราะว่าตัวตลกตัวเดียวกันไม่ว่าคณะใด ก็จะต้อง พูดเหมือนกัน เพราะเป็นตัวเดียวกัน
นอกจากนี้ ภาษาถิ่นยังใช้พากย์ฤาษี ซึ่งแสดงประกอบในเรื่องไม่ใช่ฤาษีที่ออกตอนแรก เสนาหรือนางสนมก็ใช้ภาษาใต้
บทเจรจาของแต่ละตัวนี้ ผู้เชิดเองจะต้องใช้ศิลปในการพากย์ให้เหมาะสมกับแต่ละตัว ให้เหมาะกับนิสัย พื้นเพของตัวละครแต่ละตัว บางตัวนิสัยเย่อหยิ่ง บางตัวสุภาพ บางตัวก็ชอบพูดลามก บางตัวก็นิสัยโง่เขลา ดังนั้นนายหนังจึงต้องมีไหวพริบปฏิภานใน การที่จะสวมวิญญาณให้รูปหนังแต่ละตัวได้ จึงจะทำให้การแสดงเป็นไปได้ดีไม่ดูแล้ว เป็นคนคนเดียว ตัวละครทุกตัวจะต้องเปรียบเสมือนคนละคนกันเลย เสียงก็ จะให้ เหมือนกันไม่ได้
อัจฉริยลักษณะของนายหนังตะลุง
นายหนังตะลุงนับว่าเป็นอัจฉริยะบุคคลคนหนึ่งในด้านการพากย์หนังตะลุง เพราะเป็น การยากนักที่จะเป็นนายหนังตะลุงได้ ตัวนายโรง เองจะต้องมีความรอบรู้หลายด้านหรือ ทุกด้านก็ว่าได้ นอกจากจะเป็นหัวหน้าคณะแล้ว ยังเป็นผู้ประพันธ์เรื่อง และเชิดรูปหนัง ทุกตัว คนเชิดหนังตะลุงจึงต้องมีความสามารถอย่างยิ่งยวด ที่จะสามารถสวมวิญญาณ ให้กับรูปหนังทุกตัวให้ดูแล้วเหมือนกับคนละคน ซึ่งอันที่จริงคนๆ เดียวพากย์ ความสามารถของนายหนังตะลุงเช่นว่า
1. เสียง
ในสมัยก่อนนั้น เครื่องขยายเสียงยังไม่มี การเล่นหนังตะลุงจึงว่ากันปากเปล่า ฉะนั้น นายหนังตะลุงจึงต้องเป็นคนที่มีเสียงดัง ฟังชัดบางคืนต้องแสดงให้คนเป็นจำนวนพันฟัง จะต้องขับกลอนหรือบทคืนละ 7-8 ชั่วโมง โดยเฉพาะถ้าเล่นประชันโรงแล้ว จะต้องใช้ เสียงมากเป็นพิเศษ นอกจากเสียงดังแล้ว ยังจะต้องมีเสียงใส กังวานหวาน ประสาน สนิทเข้ากับเสียงโหม่ง ภาษาหนังตะลุงเรียกว่า "เสียงเข้าโหม่ง" ด้วย
นอกจากนี้ นายหนังตะลุงยังจะต้องมีความสามารถทำเสียงให้ได้หลายเสียงด้วยกัน ทั้งเสียงหญิง ชาย แก่ หนุ่ม หรือเสียงเด็ก ต้องทำ ได้ทุกประเภทแบบเดียวกับคนพากย์ หนัง (ภาพยนตร์) เพราะนายหนังตะลุงคนเดียวต้องพากย์รูปทุกตัว คืนหนึ่งออกรูป 40 ตัว ก็ต้องทำเสียง 30 เสียง คนเชิดหนังตะลุงจึงต้องมีความสามารถกว่านักพากย์หนัง หลายเท่าทีเดียว นายหนังตะลุงบางคนเป็นผู้หญิง แต่มีความสามารถพากย์ หนังตะลุง เสียงชายไม่เพี้ยนเลย ถ้าไม่เห็นตัวก็คงคิดว่าผู้ชาย
2. ศิลปการเชิด
ในการเชิดหนังตะลุง นายหนังตะลุงจะต้องสามารถสวมวิญญาณ ให้กับรูปหนังทุกตัวที่ เชิดได้ สามารถถอน สวมวิญญาณ และสับเปลี่ยนได้โดยฉับพลัน
ภาพนี้แสดงให้เห็นว่าในฉากหนึ่งๆ นายหนังตะลุงจะต้องพากย์หลายตัวละคร มีทั้งพระ นาง และตัวตลก ซึ่งนายหนังจะต้องมี ความสามารถสวมวิญญาณให้ตัวละครแต่ละตัว ได้อย่างสมจริงสมจัง เช่น เมื่อพากย์ยักษ์ก็ต้องทำเสียงขึงขัง ตึงตังหยามช้า แต่พอเปลี่ยน เป็นพระเอกหรือนางเอกก็ต้องเปลี่ยนน้ำเสียงทันที นายหนังจะต้องใส่ อารมณ์ให้เข้ากับ ลักษณะนิสัยของรูปหนังในแต่ละบทบาท เวลานายหนังพากย์หนังนั้นจะเห็นได้ว่า กริยาท่าทางหรือสีหน้าของนายหนังเอง ก็ จะแสดงออกไปตามบทบาทของรูปนั้นในบท นั้น เพื่อใส่อารมณ์ให้ถึงสมจริงสมจัง ให้เป็นตัวรูปที่แท้จริง ไม่ใช่อารมณ์ของนายหนัง จึงจะทำให้ผู้ชมไม่เบื่อและซาบซึ้งในเรื่องนายหนังตะลุงบางคน ก็สามารถ บีบน้ำตาของ ผู้ชมได้ดีมากทีเดียว
3. ความรอบรู้
นายหนังตะลุงจะต้องรอบรู้ในศาสตร์ต่างๆ เกือบทุกแขนง เช่น รู้ศิลปวรรณคดี ศาสนา กฏหมาย กามศาสตร์ อักษรศาสตร์ โดยเฉพาะทางด้านอักษรศาสตร์ต้องเรียนรู้มาก ต้องเรียนรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม นอกจากนี้ ก็ยังต้องมีความรู้ที่ทันสมัย เพราะขืน เล่นแบบเก่าซ้ำๆ ซากๆ ผู้ชมก็จะไม่นิยม
ในทางด้านอักษรศาสตร์นั้น นายหนังตะลุงต้อง มีความสามารถมากทีเดียว เพราะ สามารถพากย์บทออกมาได้เป็นกลอนสดๆ และเป็น เรื่องเป็นราวทำให้เข้าใจมองเห็น ภาพพจน์ได้ด้วย พูดง่ายๆ ว่าสามารถ เล่านิทานเป็นกลอนเลย แต่หนังที่เพิ่งหัดใหม่นั้น ยังไม่ชำนาญพอ เขาเรียกว่าหัวยังไม่เดินจึงจำเป็นต้องใช้คำเวียนไปก่อน เมื่อมีความชำ นิชำนาญแล้ว ก็จะใช้กลอนสดๆ เลย ซึ่งต้องได้รวดเร็วและไพเราะ ได้ทั้งรสและความ จำเป็นต้องเรียนรู้ศัพท์เยอะๆ เพราะถ้าศัพท์น้อย กลอนก็ขาดความไพเราะ เนื้อเรื่องก็ จะขาดรสชาติ
หนังตะลุงบางคณะก็สามารถเล่นกลอนกลบทได้แต่ก็หายากมาก
4. ความมีไหวพริบและปฏิภาณ
คนเชิดหนังตะลุงจะต้องมีปฏิภาณเด่น มิฉะนั้นจะคิดกลอนไม่ได้เพราะบทกลอนๆ ที่ขับออกมาสดๆ นั้น จะต้องสอดคล้องกับเนื้อเรื่องและบทบาทของตัวละคร ถ้าปฏิภาณ ไม่ดีเกิดกลอนติดขึ้นมา ก็ไม่มีปัญญาแก้จะทำให้ผู้ชมฮาเองได้ ซึ่งเขาเรียกว่า "โลนหนัง" ตามภาษาหนังตะลุง นอกจากนี้ ยังต้องมีไหวพริบที่จะนำเรื่องต่างๆ มาดัดแปลงให้ เข้า กับเรื่อง เข้ากับยุคกับสมัย จึงจะทำให้ผู้ชมมีชีวิตชีวา และอยากชมมากขึ้น
5. อารมณ์ขัน
คนดูหนังตะลุงนั้น ที่ดูหนังตะลุงมีจุดมุ่งหมายที่จะดูอยู่ 3 อย่าง
1. ฟังบทกลอนที่คมคายและคล่องแคล่ว
2. ฟังเรื่องที่สนุกมีคติสอนใจ
3. ฟังบทตลก
โดยเฉพาะบทตลกแล้วครึ่งต่อครึ่งของผู้ชมทีเดียวที่อยากดูบทตลก ถ้าแบ่งเรื่องทั้งหมด ของหนังคืนนั้น คิดเป็นเปอร์เซนต์ เปอร์เซนต์ของบทหนังที่สูงสุดที่ผู้ชมอยากดูก็คือ บทตลก นอกนั้นก็อยากดูเนื้อเรื่องหรือฟังบทกลอนหนังตะลุงโรงใดมีบทตลกน้อย หรือตกซ้ำๆ ซากไม่รู้จักจี้เส้นคนดูก็จะขาดความนิยม เพราะคนดูต้องนั่งทนดูตั้งแต่หัว ค่ำยันสว่าง ถ้าไม่มีบทตลกก็จะทำให้ง่วงนอน ยิ่งบางคณะก็จี้เส้นผู้ชมได้ทั้งคืน
บทตลกของหนังตะลุงโดยทั่วไป จะออกมาในรูปของบทตลกแบบลามกซักหน่อย เพราะ แบบฉบับของหนังตะลุงเขามาอย่างนั้น ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของบรรดาหนุ่มๆ สาวๆ ที่ไป นั่งชม และเด็กๆ จะสังเกตุเห็นได้ว่าหนังตะลุงคณะใดๆ ที่มีบทรักมากๆ บทตลกแบบ ลามกมากๆ จะเห็นขวัญใจของหนุ่มๆ สาวๆ มากทีเดียว แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมของคน เฒ่าคนแก่ บางคณะก็ตลกลามกอนาจารย์มากไปซึ่งก็ดูแล้วก็น่าเกลียด
6. ความสามารถในการจำ
นายหนังมีความจำเป็นที่ต้องอาศัยความลำบาก เพราะนายหนัง ตะลุงที่มีความจำดีมัก ได้เปรียบคือ สามารถนำเอาบทกลอนที่ไพเราะๆ กินใจมาจากวรรณคดีมาสอดแทรก เรื่องให้ไพเราะน่าดูเข้า เพื่อว่าไปเล่นที่ไหนก็จะได้ไม่ซ้ำเรื่อง ซ้ำบทกันผู้คนที่ชมจะ ไม่เบื่อเสียก่อน
โอกาสที่จะแสดงหนังตะลุง
1. งานสมโภชหรืองานฉลอง (นิยมแสดงมากที่สุด)
2. งานมงคล
3. งานอัปมงคล เช่น งานศพ
4. งานที่จัดเพื่อหารายได้ เช่น งานวัด หรือเอกชนจัดเพื่อหารายได้บำรุงวัด หรือโรง เรียน แบบนี้ก็เก็บค่าผ่านประตู และจัดเป็นโรงแข่ง อาจจะแข่งกับมโนราห์ หรือลิเก หรือหนังตะลุงด้วยกันปัจจุบันจัดเพื่อหากำไรเสียส่วนมาก
เรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเล่นหนังตะลุงนั้น ก็มีพอสังเขปแค่นี้ ซึ่งข้าพเจ้าเองก็ไม่ สามารถทีจะเอามาเล่าให้ละเอียดได้มากนัก เพราะเหตุว่าข้าพเจ้าก็ได้รับความรู้นี้ มานานเป็นสิบปีแล้ว จึงลืมๆ ไปเกือบจะหมด แต่ตำราเกี่ยวกับหนังตะลุงก็มีอยู่ ซึ่งพอจะ หาอ่านได้
หนังตะลุงก็เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ และน่าทึ่งอยู่มาก ความ สามารถของนายหนังตะลุง นั้นเป็นความสามารถชั้นยอดทีเดียว ยากที่จะฝึกฝนขึ้นมาได้ ให้เก่งได้ นับว่านายหนัง ตะลุงก็เป็นอัจฉริยะบุคคลในด้านนี้
ปัจจุบันนี้ หนังตะลุงของภาคใต้มีอยู่มากมายหลายคณะ ส่วนใหญ่ หนังตะลุงจะอยู่แถว จังหวัด นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง และสงขลา ส่วนจังหวัดอื่นๆ ก็มีเหมือนกัน แต่ไม่ มากเหมือน 4 จังหวัดดังกล่าวแถวๆ 3 จังหวัดภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ก็มีหนังตะลุงของอิสลาม ทุกอย่างเหมือนหนังตะลุงธรรมดา แต่พูดภาษามาลายูและ เครื่องดนตรีก็จะบรรเลงผิดกับของไทยๆ (ซึ่งกระเดียดไปทางมาลายู) แต่ก็มีอยู่ไม่กี่ คณะนัก
หนังตะลุงในยุคปัจจบัน กลายมาเป็นแบบสากลนิยม คือ เอา เครื่องดนตรีสากลมา ประกอบ คล้ายๆ เป็นดนตรีสากลไป และเรื่องราวต่างๆ ที่แสดง ก็ประยุกต์เข้ากับกาล สมัย ซึ่งเอกลักษณ์เดิมของหนังตะลุงนั้น ถูกกลืนไปเกือบหมดแล้ว จะหาดูหนังตะลุงที่มี แบบฉบับเดิมทีเดียวนั้นได้ยากมากทีเดียว หรือหาไม่ได้เลย