กฎอัยการศึก" ในภาวะเสี่ยงสร้างเงื่อนไขใหม่

ความร้อนแรงของสถานการณ์ความไม่สงบ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ก้าวเข้าสู่จุดสูงสุดทันที จากเหตุการณ์เผาโรงเรียน 20 แห่ง ใน จ.นราธิวาส และการปล้นสะดมอาวุธปืน กว่า 300 กระบอก จากค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส กระทั่งมีทหารประจำหน่วยเสียชีวิต 4 ราย ด้วยกัน ในคืนวันที่ 4 มกราคม ที่ผ่านมา

ต่อเนื่องมาถึง การวางระเบิดรถจักรยานยนต์ใน จ.ปัตตานี จนทำให้เจ้าหน้าที่ในชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด 2 นาย เสียชีวิต ขณะปฏิบัติหน้าที่ ในวันที่ 5 และปฏิบัติการล่าสุดของกลุ่มติดอาวุธ ที่ยิงถล่มสถานีตำรวจภูธรตำบลอัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา ในวันที่ 7

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ว่า กระทบต่อรัฐบาลอย่างยิ่ง ด้วยความเป็นจริงที่ว่าทุกครั้งที่เกิดความรุนแรง ปฏิกริยาที่เกิดขึ้นภายหลัง ผ่านท่าทีของผู้นำรัฐบาลก็คือ การประเมินว่าเป็นฝีมือของกลุ่มโจรทั่วไปที่เรียกร้องผลประโยชน์ อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ได้กระตุ้นให้บุคคลในรัฐบาลหันมาสนใจอย่างจริงจังมากขึ้น

จะเห็นได้จากการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ของพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี (ฝ่ายความมั่นคง) พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ วันมูหะมัดนอร์ มะทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ด้วยสถานการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นข้างต้น ทำให้รัฐบาลเลือกที่จะออกมาตรการเพื่อรองรับ

นั่นก็คือ การประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่ 8 อำเภอ ของจ.นราธิวาส คำสั่งดังกล่าวที่มีขึ้นในวันที่ 5 มกราคม จึงเท่ากับว่าเป็นการเพิ่มพื้นที่จากเดิมที่มีอยู่แล้ว ในอำเภอชายแดนของภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งประกอบด้วย อ.สะเดา อ.นาทวี และ อ.สะบ้าย้อย ใน จ.สงขลา, อ.ยะหา อ.บันนังสตา อ.ธารโต อ.เบตง ของ จ.ยะลา และในพื้นที่ 5 อำเภอในจังหวัดนราธิวาสประกอบด้วย อ.สุคิริน อ.แว้ง อ.จะแนะ อ.ระแงะ และอ.ศรีสาคร

ส่วน 8 อำเภอ ที่ใช้กฎอัยการศึก หรือในความหมายเท่ากับว่าเป็นการครอบคลุมทั้งจังหวัด ประกอบด้วย อ.เมือง อ.ตากใบ อ.บาเจาะ อ.ยี่งอ อ.ระแงะ อ.รือเสาะ อ.เจาะไอร้อง และ อ.สุไหงปาดี กล่าวสำหรับพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกพุทธศักราช 2457 เป็นการให้อำนาจกับทหารเข้าปฏิบัติการและเป็นผู้นำในการสั่งการยุทธการในพื้นที่แบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งในสายตาของชาวบ้านที่เคยผ่านประสบการณ์สงครามคอมมิวนิสต์ถือว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัวอย่างยิ่ง

ตามมาตรา 4 ระบุว่าสามารถใช้อำนาจดังกล่าวได้เมื่อมีสงครามหรือจลาจลขึ้น ณ แห่งใดให้ผู้บังคับบัญชา ทหาร ณ ที่นั้น ซึ่งมีกำลังอยู่ใต้บังคับไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพัน หรือเป็นผู้บังคับบัญชาในป้อมหรือที่มั่นอย่างใดๆ ของทหารมีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึก เฉพาะในเขตอำนาจหน้าที่ของกองทหารนั้นได้ แต่จะต้องรีบรายงานให้รัฐบาล ทราบโดยเร็วที่สุด

นอกจากนี้ยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารตามมาตรา 8 โดยเมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึกในตำบลใด เมืองใด มณฑลใด เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเต็มที่จะตรวจค้น ที่จะเกณฑ์ ที่จะห้าม ที่จะยึด ที่จะเข้าอาศัย ที่จะทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่ และที่จะขับไล่

ทั้งนี้ตามมาตรา 9 มีการให้มีอำนาจที่จะตรวจค้นดังต่อไปนี้

(1) ที่จะตรวจค้นบรรดาสิ่งซึ่งจะเกณฑ์ หรือต้องห้าม หรือต้องยึด หรือจะต้องเข้าอาศัย หรือมีไว้ในครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งมีอำนาจ ที่จะตรวจค้นได้ไม่ว่าที่ตัวบุคคล ในยานพาหนะ เคหะสถาน สิ่งปลูกสร้าง หรือ ที่ใดๆ และไม่ว่าเวลาใดๆ ทั้งสิ้น

(2) ที่จะตรวจข่าวสาร จดหมาย โทรเลข หีบ ห่อ หรือสิ่งอื่นใดที่ส่ง หรือมีไปมาถึงกันในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก (3) ที่จะตรวจหนังสือ สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ภาพโฆษณา บทหรือคำประพันธ์ (มาตรา 9 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 303 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515)

แต่การประกาศคำสั่งดังกล่าว ก็ถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่ายตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้นำศาสนาและองค์กรต่างๆ ในพื้นที่ โดยมองไปในทิศทางเดียวกันว่า ในการประกาศกฎอัยการศึกอาจไม่คุ้มกับการสูญเสีย และภาพพจน์ที่เป็นการซ้ำเติมชายแดนใต้

"การหารือกันของผู้นำ นักวิชาการ ทุกคนเห็นพ้องกันไว้ไม่สนับสนุนให้ทหารประกาศกฎอัยการศึกหรือประกาศเคอร์ฟิวส์ ซึ่งการประกาศดังกล่าวน่าจะเป็นแนวทางสุดท้ายที่รัฐจะเลือกใช้" อับดุลเลาะมาน อับดุลสมัด ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดนราธิวาส แสดงทัศนะและว่า สิ่งที่ห่วงใยก็คือ การที่ทหารมีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ อาจจะทำให้ไม่มีกรอบในการปฏิบัติหน้าที่อย่างชัดเจน ซึ่งปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือความเดือดร้อนที่จะตกกับชาวบ้าน

เศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ไม่มั่นใจว่ารัฐบาลเอาอะไรมาเป็นเกณฑ์ในการวัดความรุนแรง จนถึงขั้นการประกาศเป็นพื้นที่กฎอัยการศึก ซึ่งในภาพที่เกิดขึ้นทำให้ถูกมองว่าพื้นที่ชายแดนใต้เลวร้ายมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าหากการใช้กฎอัยการศึกอย่างเข้มงวดและจริงจังอาจกระทบกับชาวบ้านในพื้นที่

"วิถีชีวิตของคนในพื้นที่ชายแดน มักจะนิยมออกมาพบปะและดื่มกินน้ำชาในเวลากลางคืน ซึ่งอาจทำให้ความเข้าใจผิดและความหวาดระแวงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้เป็นห้วงแห่งการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกือบทุกระดับ เกรงว่ามาตรการดังกล่าวอาจกระทบกับการเลือกตั้งในพื้นที่ได้และอาจมีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มสวมรอยสร้างสถานการณ์ได้" เศรษฐ์ ระบุ

สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ ต่อการประกาศใช้อำนาจดังกล่าวอาจเป็นการตอกย้ำ ให้เกิดความหวาดระแวงและความขัดแย้งในพื้นที่มากขึ้น เพราะเมื่อทหารต้องการไล่ล่ากลุ่มขบวนการโจรก่อการร้าย แน่นอนที่สุดอาจกระทบกับวิถีชีวิตของคนชายแดนใต้

ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาไปยุทธศาสตร์ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่วางเอาไว้ ก่อนหน้านี้ก็คือ พยายามลดช่องว่างด้วยการใช้ยุทธศาสตร์แบบสันติวิธี โดยเน้นการอยู่อย่างมุสลิมและดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมชายแดนใต้ที่หลากหลาย

ภาพของการประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ขณะนี้ จึงไม่ต่างกับการราดน้ำมันเข้าใส่กองเพลิง อันจะง่ายต่อการสุมไฟใต้ให้คุโชนขึ้น

บายไลน์ เอกราช มูเก็ม