Article 31
ศาลเจ้าเล่งจูเกียง (ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว)
ศาลเจ้าเล่งจูเกียง หรือ
ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเป็นศาลที่ประดิษฐานรูปแกะสลัก ของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
พระหมอ เจ้าแม่ทับทิม ตั้งอยู่ที่ถนนอาเนาะรู อำเภอเมืองปัตตานี
ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นที่เคารพสักการะของชาวจีนและชาวไทยโดยทั่วไปมาก
ประวัติการสร้างหรือความเป็นมาของศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว มีการเล่าสืบต่อๆ
กันมาเป็นตำนานที่เกี่ยวกับประวัติเมืองปัตตานี
จากการศึกษาจากการบันทึกในสมัยราชวงศ์เหม็ง (พ.ศ. 2064-2109) เมื่อประมาณกว่า 400
ปี กล่าวว่า ลิ้มกอเหนี่ยวและพี่ชาย ชื่อลิ้มโต๊ะเคี่ยมเป็นชาวเมืองฮุยไล้
แขวงเมืองแต้จิ๋ว เดิมลิ้มโต๊ะเคี่ยมรับราชการอยู่ที่เมืองดังกล่าว
ครั้งเมื่อสิ้นบุญบิดาแล้วจึงมารับราชการที่เมืองจั่วจิว
ในช่วงที่โจรสลัดญี่ปุ่นกำเริบหนัก ทางเมือหลวงได้แต่งตั้งขุนพล เช็ก กี กวง
เป็นแม่ทัพเรือปราบสลัดญี่ปุ่น จึงเป็นโอกาสดีของคู่อริที่จะใส่ความลิ้มโต๊ะเคี่ยม
ลิ้มโต๊ะเคี่ยมจึงหนีไปยังเกาะกีลุ่ง (เกาะไต้หวัน) และหนีต่อไปยังเกาะลูวอน (ฟิลิปปินส์)
แต่ต้องปะทะกับกองเรือของสเปนที่ยึดครองอยู่
หลังจากนั้นลิ้มโต๊ะเคี่ยมจึงเดินทางมายังปัตตานี ได้ทำงานเป็นนายด่านเก็บภาษี
ต่อมาจึงได้สร้างท่าเรือพาณิชย์แห่งหนึ่งชื่อ “โต๊ะเคี่ยม”
ภายหลังลิ้มโต๊ะเคี่ยมได้เข้ารับนับถือศาสนาอิสลามมีภรรยาเป็นเชื้อพระวงศ์ของเจ้าเมืองปัตตานีเป็นที่โปรดปรานของเจ้าเมืองปัตตานีจนได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหัวหน้าด่านเก็บส่วยสาอากรต่างๆ
ทางเมืองจีนมารดาและน้องสาว สืบเสาะข่าวก็ไม่ทราบ
ลิ้มกอเหนี่ยวน้องสาวจึงขออนุญาตมารดาออกติดตามพี่ชายและนำกองเรือมาถึงเมืองปัตตานี
ได้พบพี่ชายและขอร้องให้พี่ชายเดินทางกลับเมืองจีน
พี่ชายได้รับปากกับเจ้าเมืองปัตตานีไว้ว่าจะสร้างมัสยิดประจำเมืองให้แล้วเสร็จ
ลิ้มกอเหนี่ยวไม่ละความพยายามจึงขอพักอยู่ที่เมืองปัตตานีต่อไป
เพื่อหาโอกาสอันควรชักชวนให้พี่ชายกลับ
ต่อมาเมืองปัตตานีเกิดการกบฎแย่งชิงกันเป็นใหญ่ ภายหลังเจ้าเมืองถึงแก่อนิจกรรม
ลิ้มโต๊ะเคี่ยมจึงเข้าร่วมต่อสู้กับกบฏ
ลิ้มกอเหนี่ยวเข้าช่วยพี่ชายแต่พิจารณาเห็นว่าสู้ข้าศึกไม่ได้
จึงฆ่าตัวตายไม่ยอมตายด้วยอาวุธของศัตรู
จากการกระทำอย่างอาจหาญและเด็ดเดี่ยวเยี่ยงชายชาตรีของลิ้มกอเหนี่ยว
ได้ก่อให้ชาวจีนในปัตตานีมีความศรัทธาในตัวนางจึงแกะสลักรูปลิ้มกอเหนี่ยวประดิษฐานไว้ที่ศาลเจ้าใกล้มัสยิดกรือเซะที่ลิ้มโต๊ะเคี่ยมสร้างไว้ไม่สำเร็จ
ต่อมาภายหลังปรากฏว่ามีความศักดิ์สิทธิ์จนเป็นที่เลื่องลือทั่วไป
อีกตำนานหนึ่งกล่าวว่า
เมื่อลิ้มกอเหนี่ยวได้ฟังคำปฏิเสธของพี่ชายที่ไม่ยอมเดินทางกลับเมืองจีน
จึงอธิษฐานขอให้การก่อสร้างมัสยิดกรือเซะไม่สำเร็จและผูกคอตายที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ใกล้มัสยิดกรือเซะ
ตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับมารดาก่อนจะออกเดินทางมาตามหาพี่ชาย
เมื่อย้ายเมืองปัตตานีไปที่วังจะบังติกอ
ชาวจีนในเมืองปัตตานีก็ย้ายชุมชนจากกรือเซะไปสร้างชุมชนชาวจีน ที่ตำบลอาเนาะรู
และสร้างศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวนำรูปแกะสลักเจ้าแม่มาประทับ ณ
ศาลเจ้าแม่แห่งนี้เพื่อสักการะจนถึงปัจจุบันนี้ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี
จะมีงานประเพณีแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวไปตามถนนสายต่างๆ ภายในตัวเมืองฯ
ทำพิธีลุยไฟบริเวณหน้าศาลเจ้าเล่งจูเกียง
ว่ายน้ำข้ามแม่น้ำตานีบริเวณสะพานเดชานุชิต
ในงานนี้มีผู้ที่เคารพศรัทธาเป็นมาร่วมงานเป็นจำนวนมากทุกปี